บริษัทฯ บริหารจัดการโดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
(Good Corporate Governance)
คณะกรรมการบริษัท กำหนดนโยบายในการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและถูกต้องตามกฎหมาย ยึดหลักคุณธรรมและจริยธรรมธุรกิจ เปิดเผยข้อมูลด้วยความโปร่งใสตรงไปตรงมา พัฒนาระบบควบคุมภายใน และกลไกการตรวจสอบที่ดีและเหมาะสม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ถือหุ้น สถาบันการเงิน พันธมิตรทางธุรกิจ และผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะประกอบธุรกิจโรงแรมที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง และพร้อมพัฒนาธุรกิจให้เติบโตแข็งแกร่ง เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ในปี 2566 บริษัทฯ ได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการ “ดีเลิศ” ระดับ 5 ดาว โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และได้รับการประเมิน AGM Checklist ระดับ 5 เหรียญ โดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผ่านเกณฑ์และได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2566 “ระดับ A” ในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดระหว่าง 3,000-10,000 ล้านบาท ประเภทอุตสาหกรรมการบริการ โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บริษัทฯ มีการพัฒนาการสำคัญของการกำหนดนโยบายเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย การลงนามทบทวนนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 การจัดทำขั้นตอนปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และการจัดทำนโยบายและแนวปฎิบัติการจ่ายค่าอำนวยความสะดวกและการจ้างงานพนักงานรัฐ
ทั้งนี้ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนเข้าใจและรับทราบนโยบายการกำกับดูแลกิจการ จริยธรรมธุรกิจ และนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยกำหนดให้สายงานตรวจสอบภายในมีหน้าที่ในการติดตามและสำรวจความพึงพอใจต่องานบริการและต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ส่งเสริมและสร้างการตระหนักรู้โดยการจัดให้มีการเผยแพร่และสื่อสารให้ทุกคนในองค์กรผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ และจัดอบรมภายในเพื่อแบ่งปันความรู้เรื่องการทุจริตให้พนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยในปี 2566 ได้จัดอบรมหลักสูตร We Prompt Anti-Corruption เพื่อสร้างความตระหนักรู้เท่าทันไม่ติดอยู่ในวงจรการทุจริตคอร์รัปชั่น และกำหนดให้เป็นหลักสูตรเพื่อการปฐมนิเทศพนักงานใหม่
แนวปฏิบัติด้านบรรษัทภิบาล แบ่งเป็น 8 เรื่องดังนี้
บริษัทฯ กำหนดแผนในการดำเนินธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี โดยรวบรวมข้อควรปฏิบัติ และจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจที่ดี เหมาะสมสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์องค์กร และมั่นใจว่าสามารถปฏิบัติได้ มาจัดทำเป็นคู่มือจริยธรรมธุรกิจ และพิจารณาปรับปรุงอยู่เสมอ เพื่อเผยแพร่ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน เกิดการรับรู้การปฏิบัติร่วมกันทั้งองค์กร เพื่อให้บริษัทฯ ก้าวไปสู่ความสำเร็จด้วยสำนึกของความถูกต้องและดีงาม ตามคำขวัญที่ว่า “ความสำเร็จต้องมาพร้อมด้วยคุณธรรม (Success with Integrity)” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะหล่อหลอมให้ผู้บริหาร และพนักงาน มีความเชื่อมั่นในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนที่พึงมีต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย มีจริยธรรมและทัศนคติที่ดีในการทำงาน และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
โปรดดูรายละเอียดในหัวข้อ “จริยธรรมธุรกิจ”
โครงสร้างคณะกรรมการ
บริษัทฯ กำหนดคุณสมบัติของกรรมการ สอดคล้อง และเข้มกว่าข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ชัดเจน มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกันของกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร ประกอบด้วย ประธานกรรมการบริษัทเป็นคนละคนกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยมีบทบาท อำนาจ หน้าที่แบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อส่งเสริมให้เกิดดุลยภาพระหว่างการบริหารและการกำกับดูแล
คณะกรรมการบริษัท แต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อให้มีการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจนเหมาะสม และมีนโยบายในการพิจารณาสับเปลี่ยนกรรมการ (Rotation) ในคณะกรรมการชุดย่อย ตามความเหมาะสม โดยประธานคณะกรรมการชุดย่อย มีหน้าที่ในการนำเสนอนโยบายที่ได้รับมติเห็นชอบจากคณะของตนต่อคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการชุดย่อยแต่งตั้งเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการติดตาม และประสานงานระหว่างกรรมการกับฝ่ายจัดการ เพื่อให้แน่ใจได้ว่ามีการปฏิบัติตามนโยบายที่วางไว้ และบันทึกรายงานการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการ 12 คน และแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อย 4 คณะ โดยกำหนดให้ระยะเวลาดำรงตำแหน่งของกรรมการบริษัท และกรรมการในคณะกรรมการชุดย่อย คราวละ 3 ปี นับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้ง และในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นทุกครั้งกรรมการจะต้องออกจากตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด ทั้งนี้ กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้
องค์ประกอบคณะกรรมการบริษัท
ทักษะ/ความเชี่ยวชาญ
คณะกรรมการบริษัท มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และข้อพึงปฏิบัติของผู้บริหาร ครอบคลุมถึงหน้าที่ และภารกิจหลักโดยให้ฝ่ายจัดการมีอิสระในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การบริหารตามวัตถุประสงค์ และพันธกิจของบริษัทฯ และเสนอขออนุมัติแผนจากคณะกรรมการบริษัท
คณะกรรมการชุดย่อย ได้แก่
1) คณะกรรมการตรวจสอบ ประกอบด้วย กรรมการอิสระทั้งคณะไม่น้อยกว่า 3 คน ที่มีความรู้ทางด้านบัญชี การเงิน และลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ อย่างเพียงพอเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบการสอบทานรายงานทางการเงิน สอบทานความเพียงพอของระบบควบคุมภายใน และติดตามการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง พิจารณาความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้ง/โยกย้าย/เลิกจ้างหัวหน้าสายงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเลขานุการ สอบทานการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง พิจารณาคัดเลือก/แต่งตั้ง/ถอดถอน และเสนอค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี พิจารณาสอบทาน และเปิดเผยข้อมูลการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างครบถ้วน โปร่งใส
2) คณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย กรรมการ 6 คน มีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาและกำหนดทิศทางธุรกิจและแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ กลั่นกรองโครงการลงทุนตามแผนกลยุทธ์ พิจารณาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโครงการ รวมถึงตรวจสอบ ควบคุมให้มั่นใจว่านโยบายบริหารความเสี่ยงของบริษัทครอบคลุมความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และมีการจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณาทบทวนกรอบการบริหารความเสี่ยงและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
3) คณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาล ประกอบด้วย กรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร 3 คน มีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท กำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง พิจารณาและสรรหาบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ ตลอดจนประเมินผลงานของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย และกำกับดูแลให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับปฏิบัติตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจริยธรรมธุรกิจ
4) คณะกรรมการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงและกำหนดค่าตอบแทน ประกอบด้วย กรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร 3 คน มีหน้าที่รับผิดชอบในการนำเสนอนโยบายเพื่อพัฒนา ประเมินความรู้ความสามารถ และกำหนดค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูง จัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ตลอดจนพิจารณานโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคล
โดยมีคณะกรรมการชุดย่อยระดับบริหาร เพื่อสนับสนุนการทำงานของฝ่ายจัดการให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและเข้มแข็ง ดังนี้
1) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ประกอบด้วย ผู้บริหาร 8 คน โดยมี นายยูเซฟ อิล คัมริ กรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นประธาน มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาแผนบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ ติดตามและกำหนดแนวทางการบริหารความเสี่ยงตลอดจนมาตรการรองรับผลกระทบ อีกทั้งกำกับดูแลจัดการภาวะวิกฤตและสามารถตอบสนองความเสี่ยงในเชิงรุกได้อย่างทันท่วงที
2) คณะกรรมการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย ผู้บริหาร 11 คน โดยมี นายยูเซฟ อิล คัมริ กรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นประธาน มีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลการขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินงานด้านการพัฒนาความยั่งยืน มีความคล่องตัวและเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลทั่วทั้งองค์กร โดยกำหนดให้สายพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร และฝ่ายงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นผู้ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรในระดับปฎิบัติการ
3) คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบด้วย ผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสายงาน 7 คน เพื่อให้การกำกับดูแลและขับเคลื่อนนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร และเพื่อให้โปรแกรมการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยแต่งตั้งนางสาวสุวิมล โรจน์กังสดาล ผู้อำนวยการ สายบริหารความเสี่ยง เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย
โปรดดูรายละเอียดในหัวข้อ “อำนาจหน้าที่รับผิดชอบ”
โปรดดูตามรายละเอียดใน หัวข้อ “โครงสร้างองค์กร-คุณสมบัติของคณะกรรมการ”
คณะกรรมการบริษัท มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และข้อพึงปฏิบัติของผู้บริหาร ครอบคลุมถึงหน้าที่ และภารกิจหลักโดยให้ฝ่ายจัดการมีอิสระในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การบริหารตามวัตถุประสงค์ และพันธกิจของบริษัทฯ และเสนอขออนุมัติแผนจากคณะกรรมการบริษัท
คณะกรรมการบริษัท ต้องจัดให้มีการประชุมระหว่างกรรมการอิสระด้วยกันเอง และผู้บริหารระดับรองลงมาจากผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายจัดการตามลำพัง
บริษัทฯ กำหนดจำนวนครั้งที่จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย โดยการนัดหมายและแจ้งให้กรรมการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทราบล่วงหน้าตลอดทั้งปี โดยกำหนดวาระให้กรรมการอิสระได้ประชุมร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นโดยอิสระ โดยไม่มีผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายจัดการ อยู่ร่วมในที่ประชุม เพื่อพิจารณาและแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน
การประชุมคณะกรรมการบริษัท ทุกครั้งต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 7 คน จึงนับเป็นครบองค์ประชุม และในการลงมติใดๆ ต้องมีกรรมการอยู่ในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งคณะ โดยมติที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจะต้องมีกรรมการลงมติเห็นด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งขององค์ประชุม หากมีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการมีอำนาจในการลงคะแนนเสียงเพื่อชี้ขาด และกำหนดให้การประชุมคณะกรรมการชุดย่อยทุกคณะจะต้องมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการในคณะกรรมการชุดย่อย และการลงมติต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่เข้าร่วมประชุม
ปี 2566 บริษัทฯ จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท 7 ครั้ง คณะกรรมการตรวจสอบ 7 ครั้ง คณะกรรมการบริหาร 8 ครั้ง คณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาล 2 ครั้ง และคณะกรรมการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงและกำหนดค่าตอบแทน 2 ครั้ง ทุกครั้งมีการจดบันทึกรายงานการประชุมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และเก็บไว้ ณ สายเลขานุการบริษัทและบรรษัทภิบาล และบน Data Server ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายในสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท จัดให้มีการประชุมระหว่างกรรมการอิสระด้วยกันเอง และผู้สอบบัญชี เพื่อสอบถามและรับทราบข้อมูลจากผู้สอบบัญชีว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานของผู้สอบบัญชีอย่างตรงไปตรงมา ในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ ครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งผู้สอบบัญชีรายงานว่าไม่พบอุปสรรคในการสอบทานและตรวจสอบงบการเงิน และจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ โดยไม่มีผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งกรรมการ และผู้บริหารอื่นในระดับรองลงมาจากกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เพื่อเปิดโอกาสให้กรรมการอิสระ และกรรมการที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร แสดงความเห็นต่อการทำงานของฝ่ายจัดการได้อย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมาโดยไม่มีการบันทึกไว้ในรายงานการประชุม
บริษัทฯ จัดให้มีการประเมินผลงานคณะกรรมการบริษัททุกปี และเพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ในการให้คณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย มีการประเมินผลการปฏิบัติงานด้วยตนเองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทร่วมกันพิจารณาผลงานและปรับปรุงแก้ไข โดยการประเมินฯ ได้ปรับมาจากแบบประเมินที่ฝ่ายพัฒนาธรรมาภิบาลเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะการประกอบธุรกิจ และครอบคลุมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย ประกอบด้วย
- แบบประเมินผลงานคณะกรรมการบริษัท
- แบบประเมินผลงานคณะกรรมการชุดย่อย 4 คณะ
- แบบประเมินตนเอง
สรุปผลการประเมินคณะกรรมการ ประจำปี 2566
คณะกรรมการเห็นว่า โครงสร้าง และองค์ประกอบของกรรมการมีความเหมาะสม มีกรรมการอิสระที่เพียงพอทำให้มีการถ่วงดุลอำนาจแบบสมดุล กรรมการเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน มีความอิสระในการตัดสินใจโดยไม่ถูกครอบงำโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง กรรมการทุกคนปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบในการดูแลการบริหารกิจการให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับฝ่ายจัดการสามารถหารือกันได้อย่างตรงไปตรงมา มีการพัฒนาตนเองและพัฒนาผู้บริหารอย่างเหมาะสม ทำให้มีความเข้าใจในธุรกิจอย่างเพียงพอ
คณะกรรมการบริษัท กำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจไว้หลายประการ และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยการพัฒนากระบวนการเพื่อสร้างและพัฒนาแนวคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ครอบครัวพนักงาน ลูกค้า เจ้าหนี้ คู่ค้า คู่แข่งขัน รัฐ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
การสรรหากรรมการ
คณะกรรมการบริษัท มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาล มีหน้าที่ในการพิจารณาโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท กำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง พิจารณาและสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเสนอขอแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ ตลอดจนพิจารณาผลักดัน และดูแลให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน เห็นความสำคัญและปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาลอย่างเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร
อนึ่ง กรรมการ คณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาล จะงดแสดงความเห็นต่อการพิจารณารับรองคุณสมบัติเพื่อแต่งตั้งตนเอง กรรมการที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องมีคุณสมบัติไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในคุณสมบัติกรรมการของ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ ไม่เคยถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก ฐานทุจริตต่อหน้าที่ ไม่เคยรับโทษจำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่ได้กระทำโดยทุจริต และไม่ได้ประกอบกิจการในนิติบุคคลอื่นที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัทฯ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อเสนอขอให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี พิจารณาอนุมัติแต่งตั้ง
การตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่ถูกเสนอชื่อ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามคุณสมบัติของกรรมการบริษัท ซึ่งกำหนดไว้เข้มกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อติดต่อทาบทามให้เข้าดำรงตำแหน่ง รวมถึงพิจารณารับรองคุณสมบัติของกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่งเพื่อเสนอขอแต่งตั้งจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น โดยจะนำข้อสรุปจากการประเมินผลงานของกรรมการในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นรายบุคคลมาประกอบการพิจารณา อย่างเป็นไปโดยอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้หนึ่งผู้ใด
โดยในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ให้กรรมการออกจากตำแหน่งจำนวนหนึ่งในสาม (1 ใน 3) เป็นอัตราตามข้อบังคับของบริษัทฯ ซึ่งในการลงคะแนนเสียงแต่งตั้งกรรมการ บริษัทฯ เสนอให้ผู้ถือหุ้นลงมติแต่งตั้งกรรมการเป็นรายบุคคลโดยให้ผู้ถือหุ้นลงมติตามจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ตนมีอยู่เพื่อเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการทีละคน ภายหลังจากได้รับการแต่งตั้ง ฝ่ายจัดการจะจัดให้มีการปฐมนิเทศบรรยายสรุป (Briefing) เพื่อให้กรรมการเข้าใจแนวทางการดำเนินธุรกิจ และแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร
การสรรหาผู้บริหารระดับสูง
คณะกรรมการบริษัท มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงและกำหนดค่าตอบแทน มีหน้าที่สรรหาและจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งเป็นคนละคนกับประธานกรรมการบริษัท เพื่อให้การทำหน้าที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ป้องกันไม่ให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงัก สำหรับการพัฒนาตำแหน่งบริหารอื่นเป็นหน้าที่ของผู้บริหารตามสายบังคับบัญชาที่จะกำกับดูแลการพัฒนาบุคลากรให้สามารถขึ้นมาทดแทน โดยมีการพิจารณาลงไป 3 ระดับจากระดับรองกรรมการผู้จัดการถึงผู้ที่จะขึ้นมาระดับผู้อำนวยการฝ่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายอำนาจในการตัดสินใจจากบนสู่ล่าง เพื่อสร้างความเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและเป็นกลไกในการรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพ
การกำหนดค่าตอบแทน
ค่าตอบแทนกรรมการ
คณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาล ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนของกรรมการ โดยมีการพิจารณาทบทวนความสมเหตุสมผลของการจ่ายค่าตอบแทน ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ สถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เปรียบเทียบกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจ และระดับรายได้ที่ใกล้เคียงกันทุกปี โดยกำหนดให้มีการจ่ายค่าตอบแทน 3 รูปแบบคือ ค่าตอบแทนประจำ ค่าเบี้ยประชุม และบำเหน็จกรรมการ (โบนัส) อย่างไรก็ตาม กรรมการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดย่อย จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มตามความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น และเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเป็นประจำทุกปี
ค่าตอบแทนผู้บริหารและพนักงาน
คณะกรรมการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงและกำหนดค่าตอบแทน ทำหน้าที่ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 4 ด้าน คือ ด้านการเงิน ด้านความพึงพอใจของลูกค้า ด้านกระบวนการภายใน และด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาองค์กร เพื่อประกอบในการพิจารณากำหนดโครงสร้างค่าตอบแทนและค่าตอบแทนประจำปีให้กับผู้บริหารและพนักงานตามสายงาน
กรรมการผู้จัดการใหญ่ พิจารณาจ่ายค่าตอบแทนผู้บริหาร โดยผ่านกระบวนการการประเมินผล 2 ส่วนคือ
1) การประเมินผลงานตามยุทธศาสตร์ (BSC - Balance Score Card) เป็นการพิจารณาตามความสำคัญของยุทธศาสตร์ของสายงานต่อยุทธศาสตร์ขององค์กร ผ่านกระบวนการถ่ายทอดเชื่อมโยงยุทธศาสตร์จากระดับองค์กรลงสู่ระดับต่างๆ 3 ระดับ ได้แก่ ยุทธศาสตร์องค์กร ยุทธศาสตร์สายงาน และยุทธศาสตร์ฝ่ายงาน
2) การประเมินผลงานเชิงทักษะและเชิงพฤติกรรม (CSB - Competency Skill Behavior) ที่สนับสนุนวัฒนธรรมองค์กร การประเมินเป็นรายบุคคล โดยผู้บังคับบัญชาโดยตรง ซึ่งจะมีหัวข้อการประเมินตามนโยบายของบริษัทฯ และแตกต่างกันตามที่ผู้บังคับบัญชาระดับสายงานเป็นผู้กำหนด และเพื่อให้การประเมินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีข้อมูลประกอบจากผู้ร่วมงานในระดับต่างๆ การประเมินจึงทำในลักษณะ 360 องศา โดยให้ผู้บังคับบัญชาประเมินผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาประเมินผู้บังคับบัญชา และให้มีการประเมินตนเองทุกระดับ ผลการประเมินทั้ง 2 ส่วนนำมาเป็นเครื่องมือในการกระจายผลตอบแทนรวมขององค์กรสู่ระดับสายงาน ฝ่าย และส่วนงาน
โปรดดูรายละเอียดใน หัวข้อ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
บริษัทฯ แต่งตั้งหน่วยงานดูแลผู้ลงทุนสัมพันธ์ เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่สำคัญของบริษัทฯ ไว้อย่างครบถ้วนและเพียงพอที่ผู้ลงทุนรายย่อย/สถาบัน ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์ และภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องสามารถติดต่อได้โดยตรง ณ สำนักงานที่ทำการของบริษัทฯ หรือค้นหารายละเอียด และข่าวสารได้ทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน IR@TheErawan.com
บริษัทฯ ให้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย กำหนดแนวทาง และข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้บริหาร และพนักงาน เมื่อต้องติดต่อสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถติดต่อกับคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาล เพื่อให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหาร และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯ โดยตรงที่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เลขที่ 2 อาคารเพลินจิต เซ็นเตอร์ ชั้น 6 ถนนสุขุมวิท คลองเตย กรุงเทพฯ 10110 หรือติดต่อที่สำนักบรรษัทภิบาล GCG@TheErawan.com ข้อมูลที่ได้รับถือเป็นความลับส่งตรงให้กับคณะกรรมการบริษัท
บริษัทฯ กำหนดให้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนที่จะต้องรับทราบ และปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบของตนอย่างจริงจัง และกำหนดให้ คณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาล (Nominating and Corporate Governance Committee (NCG)) มีหน้าที่ในการกำกับดูแลให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับปฏิบัติตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจริยธรรมธุรกิจ โดยมีเลขานุการ เป็นผู้ช่วยในการประสานติดตาม และรายงานผลเพื่อให้มีการรวบรวม เผยแพร่ข้อมูลต่อผู้ถือหุ้น ผ่านช่องทางการสื่อสารภายใน และภายนอกองค์กร